ข่าวประชาสัมพันธ์

AOT นำรถแท็กซี่ไฟฟ้ามาให้บริการผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ พร้อมติดตั้งสถานีให้บริการ EV Charge สำหรับรถแท็กซี่ไฟฟ้าสมาชิก

aot-%e0%b8%99%e0%b8%b3%e0%b8%a3%e0%b8%96%e0%b9%81%e0%b8%97%e0%b9%87%e0%b8%81%e0%b8%8b%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b9%84%e0%b8%9f%e0%b8%9f%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b9%89

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) นำร่องนำรถแท็กซี่ไฟฟ้ามาให้บริการแก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมทั้งได้ติดตั้งสถานีให้บริการเครื่องอัดประจุไฟฟ้า (EV Charge) สำหรับรถแท็กซี่ไฟฟ้าสมาชิก บริเวณลานจอดรถระยะยาวโซน E ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อมุ่งสู่ท่าอากาศยานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต้นแบบ หรือ Green Airport แห่งแรกในประเทศไทย

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า ปัจจุบันรถยนต์ 1 คันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ตันต่อปี ซึ่งในประเทศไทยมีรถยนต์มากกว่า 10 ล้านคัน ในส่วนของ AOT ซึ่งบริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ มุ่งสนองนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการผลักดันความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งของไทย เพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ AOT จึงให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งขับเคลื่อน ทสภ.สู่การเป็นต้นแบบ Green Airport หรือท่าอากาศยานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในประเทศไทย ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนรถยนต์ที่ให้บริการ ณ ทสภ.ให้เป็นรถไฟฟ้า (EV) ได้ จะทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 50 ล้านตันต่อปี

ดร.กีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ (EV Taxi) นั้น ปัจจุบันมีสมาชิกผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะ เริ่มให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนมาใช้ EV Taxi เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงแรก AOT ได้ดำเนินการติดตั้งสถานีให้บริการเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบใช้สายโดยการอัดประจุแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Fast Charge) ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 40 kW ต่อเครื่อง จำนวน 16 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง บริเวณลานจอดรถระยะยาวโซน E ทสภ. สำหรับรองรับการให้บริการแก่รถแท็กซี่ที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ ทสภ.อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งเครื่อง DC Fast Charge ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 360 kW ต่อเครื่อง จำนวน 10 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง เพื่อรองรับการให้บริการแก่รถบริการรับ – ส่งผู้โดยสาร (Shuttle Bus) รถบริการสาธารณะ รถส่วนกลาง และรถส่วนงานของ AOT ภายในพื้นที่ Support Facilities บริเวณตรงข้ามศูนย์บริหารการขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้ AOT ยังมีโครงการติดตั้ง EV Charging Station ทั้งในพื้นที่ Airside, Landside และ Custom Free Zone รวม 7 จุด เพื่อรองรับแนวโน้มที่ยานยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความนิยมในวงกว้าง ตามทิศทางที่ทั่วโลกหันมาสนใจการใช้ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดอีกด้วย

ดร.กีรติ กล่าวในตอนท้ายว่า AOT มีความมุ่งมั่นการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบภายใต้หลักธรรมาภิบาล โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักธรรมาภิบาล และมุ่งสู่การเป็น “ท่าอากาศยานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” หรือ Green Airport เพื่อการเติบโตขององค์กรอย่างมั่นคง และยั่งยืน

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*