สังคมท้องถิ่น

” แตงโม” กับ กระบวนการยุติธรรมไทย

คดี “แตงโม” เป็นคดีสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ

” แตงโม” ตายอย่างไร ?
“ใครทำให้ แตงโม ตาย ?
” เจตนา” หรือ ” ประมาท”

เป็นคำถามที่ประชาชนอยากรู้ และเป็น “พยานหลักฐาน” ที่ พนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อ “ตอบสังคม” ให้ได้และ จะต้องสรุปสำนวนการสอบสวนแล้วส่งสำนวนคดีไปให้ “พนักงานอัยการ “ พิจารณาสั่งสำนวนคดี

คดี “แตงโม” เกี่ยวข้องกับ กระบวนการยุติธรรมไทย ได้อย่างไร

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา “เมื่อ พนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้ “ พนักงานอัยการ” พิจารณาสั่งสำนวนคดี ตาม ป.วิ.อ มาตรา 141- 144 และ มาตรา 120 ห้ามมิให้ พนักงานอัยการฟ้องคดีโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน

เหตุใด จึงไม่ให้ “พนักงานอัยการ” เข้าร่วมสอบสวน หรือ รู้เห็นพยานหลักฐานมาตั้งแต่เริ่มต้นคดี ?

” หากจะรอ” ให้ พนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จสิ้นเสียก่อน แล้วจึงค่อยส่งสำนวนคดีไปให้ “พนักงานอัยการ” พิจารณา ก็จะทำให้ไม่เหลือเวลาเพียงพอทึ่จะให้ “พนักงานอัยการ” พิจารณาสั่งสำนวนคดีได้ทัน ตามกำหนดเวลาตามกฎหมาย ทำให้ ” พนักงานอัยการ” มี ทางออก ได้อยู่ 3 ทาง คือ

  1. “สั่งไม่ฟ้อง ” (หากพบว่า พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง) และต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาไป

2. “สั่งฟ้อง” เพื่อให้ทันกำหนดเวลาตามกฎหมาย แต่สำนวนคดีนั้นอาจจะมีความ ” ไม่สมบูรณ์เพียงพอ ” ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ศาล ” ยกฟ้อง” ไดั และหากศาล ” ยกฟ้อง “เท่ากับ เป็นการ ” ฟอกตัวให้กับผู้ต้องหา” ไปในตัว

3. “สั่งสอบสวนเพิ่มเติม”

เพื่อให้สำนวนการสอบสวนคดีนั้นมีความ “สมบูรณ์เพียงพอ” ที่จะสั่งฟ้อง แต่ก็อาจเป็นเหตุให้ ” ต้องปล่อยตัว ” ผู้ต้องหาไปก่อน แล้วค่อยไปติดตามเอาตัวผู้ต้องหามาฟ้องในโอกาสต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้ไม่สามารถติดตามตัวผู้ต้องหามาฟ้องก็ได้ (ถ้าผู้ต้องหาหลบหนี )

ในทางออกที่ 3 นี้ : ประชาชนอาจจะเข้าใจผิด คิดว่า “พนักงานอัยการ” สั่งไม่ฟ้องแล้วปล่อยตัวผู้ต้องหาไป

ทั้งที่ ความจริงแล้วมันไม่ใช่ เพราะพนักงานอัยการ ไม่ได้สั่งไม่ฟ้อง แต่สั่งให้พนักงานสอบสวนไปสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมให้สำนวนการสอบสวนมีพยานหลักฐานเพียงพอฟ้อง

แม้ปัจจุบัน จะยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจให้ “พนักงานอัยการ” เข้าร่วมการสอบสวน กับ พนักงานสอบสวน (ซึ่งไม่เหมือนกับกรณี “ความผิดนอกราชอาณาจักร” ซึ่งตาม ป.วิ.อ มาตรา 20 กำหนดให้ “อัยการสูงสุด” เป็น พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือจะมอบให้ พนักงานสอบสวนคนใดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบก็ได้ )

หรือ อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า “อำนาจการสอบสวน” กับ “อำนาจการสั่งคดี”
ควรจะแยกออกจากกันเพื่อเป็นการถ่วงดุลย์อำนาจกัน

แต่ในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นระบบสากล ในคดีสำคัญนั้น “พนักงานอัยการ ” จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานมา “ตั้งแต่เริ่มต้นคดี” และ “พนักงานอัยการ” จะเห็นพยานหลักฐานมาตั้งแต่เริ่มต้นคดี และพยานหลักฐานจะมีความมั่นคง ไม่ถูกทำลายพยานหลักฐาน เพราะ ผู้ที่รู้เห็นพยานหลักฐานในคดี มิใช่ จะมีแต่เพียงพนักงานสอบสวน เท่านั้น หากแต่ พนักงานอัยการ จะเข้าร่วมรับรู้ และดูพยานหลักฐานมาตั้งแต่เริ่มคดี และ การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนนั้นจะเป็นไปเพื่อการฟ้องดำเนินคดี

หาก “พนักงานสอบสวน “สามารถรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอเพื่อการฟ้องคดีแล้ว ก็จะส่งสำนวนคดีไปให้ “พนักงานอัยการ” พิจารณาและมีคำสั่งฟ้องคดี และพนักงานอัยการ มีคำสั่งฟ้องคดีแล้ว ก็จะนำพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานได้อย่างเพียงพอแล้ว นำสืบพยานหลักฐานในชั้นศาลเพื่อให้ศาลได้รับรู้ขัอเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อพิพากษาลงโทษจำเลยต่อไป

แต่หากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ฟ้อง ก็อาจจะ ไม่ขอให้ ศาลออกหมายจับ เพื่อมิให้เป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ในต่างประเทศ (บางประเทศ) ก่อนที่ศาลจะออกหมายจับให้แก่พนักงานสอบสวนนั้น พนักงานสอบสวนจะต้องเสนอพยานหลักฐานให้แก่พนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นก่อนที่ศาลจะออกหมายจับ ดังนั้น การออกหมายจับ จะเป็นไป เพื่อให้ได้ตัวมาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีเท่านั้น (ในกรณีที่มีพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว) ไม่ใช่ จับกุมตัวผู้ต้องหามาควบคุมตัวไว้ก่อน แล้วค่อยสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานไปเรื่อย ๆ

การที่ให้ “พนักงานอัยการ” เข้าร่วมการสอบสวนมา “ตั้งแต่เริ่มต้นคดี รวมถึงการให้ “พนักงานอัยการ” ได้รู้ ได้เห็นพยานหลักฐานมาตั้งแต่เริ่มต้นคดี จะทำให้ได้พยานหลักฐานที่ถูกต้องและแม่นยำที่สุด เพราะจะใกล้ชิดกับเหตุมากทีสุด แต่ถ้าปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปแล้ว หรือรอจนกว่าพนักงานสอบสวนจะสอบสวนเสร็จแล้วสรุปสำนวน ส่งสำนวนคดีไปให้พนักงานอัยการพิจารณา และเมื่อถึงเวลานั้น พยานหลักฐานย่อมไม่หลงเหลือแล้ว หรือมีการเปลี่ยนแปลงสภาพไปหมดแล้ว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น คดีของน้องชมพู่ จุดที่เกิดเหตุ(จุดที่น้องชมพู่เสียชีวิต) ได้ถูกกองทัพสื่อมวลชน หรือ ประชาชนที่ขึ้นไปบนภูดูที่เกิดเหตุเหยียบย่ำจนไม่หลงเหลือพยานหลักฐานแล้ว หรือ คดี “แตงโม” พยานหลักฐานบนเรือที่เกิดเหตุ ( หากต่อมา เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีให้ “พนักงานอัยการ” พิจารณาแล้ว พนักงานอัยการ เห็นว่า ยังมีความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมอีก และเมื่อถึงวันนั้น พยานหลักฐานบนเรือลำดังกล่าวอาจจะไม่หลงเหลือแล้ว และจะเอาพยานหลักฐานที่ถูกต้องแท้จริงมาได้อย่างไร เพราะ มีบุคคลภายนอกอาจจะเข้าไปเหยียบย่ำสัมผัส หรือมีการแปรสภาพของพยานหลักฐานไปแลัว

ถึงเวลาหรือยังที่ จะให้ “พนักงานอัยการ” เข้าร่วมการสอบสวนตั้งแต่ “เริ่มต้นคดี” ให้พนักงานอัยการ ได้รู้ได้เห็นพยานหลักฐานมาตั้งแต่เริ่มต้นคดี ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการป้องกัน มิให้มีการทำลายหลักฐาน หรือมีการเปลี่ยนแปลงพยานหลักฐานแล้ว และ เพื่อให้การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาเป็นไปตามพยานหลักฐานที่ถูกต้องแท้จริง และใกล้ชิดกับเหตุมากที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้กระทำผิด ได้รับการลงโทษในความผิดที่ตนได้ทำ แต่หากผู้นั้นไม่ได้กระทำผิด ก็สมควรที่จะได้รับความคุ้มครองไปตามพยานหลักฐาน

“ความจริงบนเรือ” มีเพียง คนที่อยู่บนเรือเท่านั้นที่รู้ ” แต่คนที่อยู่บนเรืออาจจะ “พูดความจริง” หรือ “พูดความเท็จ ” ก็ได้

“ความจริง” ย่อมเป็นไปตาม “พยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ” ซึ่ง พยานหลักฐานในที่เกิดเหตุที่ใกล้ชิดกับเหตุที่สุด ย่อมเป็นพยานหลักฐานที่ถูกต้องที่สุด เว้นแต่จะถูกเปลี่ยนแปลง หรือถูกทำลายพยานหลักฐาน

คุณคิดว่า คดี “แตงโม” พนักงานอัยการ จะสั่งอย่างไร ใน 3 ทางออกดังกล่าว

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะให้ “พนักงานอัยการ” เข้าร่วมการสอบสวนหรือได้รู้เห็นพยานหลักฐาน
มาตั้งแต่เริ่มต้นคดี ?

  • นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
  • อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
  • รองประธานคณะอนุกรรมการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (คนที่สี่) ในคณะกรรมาธิการการฎหมาย การยุติธรรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร
    1 มีนาคม 2565
0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*