สังคมท้องถิ่น

“อลงกรณ์” เร่งวางรากฐานการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน 7,255 ตำบล ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

%e0%b8%ad%e0%b8%a5%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%93%e0%b9%8c-%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%90%e0%b8%b2%e0%b8%99

“อลงกรณ์” เร่งวางรากฐานการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน 7,255 ตำบล ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ลุยเดินหน้าผนึกพลังชุมชนนำร่องเพชรบุรีโมเดลร่วมกับหน่วยราชการศูนย์ AIC และภาคเอกชน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งชาติเปิดเผยวันนี้ภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อสร้างการรับรู้นโยบาย และแนวทางการขับเคลื่อนคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลในจังหวัดเพชรบุรีภายใต้เพชรบุรีโมเดลเป็นจังหวัดแรก ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ และที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโสน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี โดยมีคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล ตัวแทนส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตร กลุ่มอาสาสมัครเกษตร กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young smart farmer ) ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก. ) วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตร ปราชญ์เกษตร กลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้แทนศูนย์เทคโนโลยีเกษตร และนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC เพชรบุรี ผู้แทนคณะทำงานเพชรบุรีโมเดล ผู้แทนคณะกรรมการพัฒนาแบรนด์เพชรบุรี คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ และผู้นำชุมชนในตำบลบ้านหม้อ ต้นมะม่วง ตำบลหนองโสน ตำบลธงชัย และตำบลบ้านกุ่ม เข้าร่วมประชุม

นายอลงกรณ์ พลบุตร กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการประชุมว่าต้องการที่จะให้แต่ละตำบลได้มีการพัฒนาระบบเกษตรกรรมในแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนพร้อมกันทั่วประเทศ 7,255 ตำบล ขณะนี้มีการแต่งตั้งเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงเกษตร กระทรวงมหาดไทย และทุกภาคีภาคส่วนโดยหวังว่าการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนจะสร้างอาชีพสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรและชุมชน เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาหนี้สิน และความยากจน โดยมีการส่งเสริมทั้ง 3 สาขา เกษตรคือพืช ประมง และปศุสัตว์ตามศักยภาพและอัตลักษณ์ของแต่ละตำบลเป็นการปักหลักวางหมุดหมายการพัฒนาแบบยั่งยืนลงไปถึงระดับชุมชนหมู่บ้าน ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ ได้แก่ ตลาดนำการผลิต เทคโนโลยีเกษตร 4.0 เกษตรปลอดภัย เกษตรยั่งยืน เกษตรมั่นคง การบูรณาการทำงานเชิงรุกทุกภาคส่วน และเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ซึ่งจะเป็นกลไกการพัฒนาหมู่บ้านตำบลแบบบูรณาการทุกภาคส่วน เชื่อว่ากลไกใหม่ที่วางไว้ทุกตำบลทั่วทั้งประเทศ จะเป็นเสาเข็มใหม่ 7,255 ต้นที่จะเป็นฐานที่แข็งแกร่งให้กับชุมชนและประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร กล่าวว่าประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับของโครงการนี้คือการมีแผนพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนที่ชัดเจนของแต่ละตำบลใน 4 ด้าน ได้แก่ เกษตรอาหาร เกษตรสุขภาพ เกษตรพลังงาน และเกษตรท่องเที่ยว เพื่อสร้างอาชีพใหม่ ๆ การจ้างงานใหม่ ๆ เช่นโครงการตลาดออนไลน์ตำบล โครงการร้านค้าเกษตรปลอดภัยตำบล โครงการเกษตรแปลงใหญ่ (Big Farm) โครงการศูนย์บริการดินและปุ๋ยชุมชน โครงการธนาคารต้นไม้ โครงการเกษตรอินทรีย์ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการพืชสมุนไพร-ตำรับยาไทย โครงการศูนย์ความรู้เกษตรตำบล โครงการสร้างแบรนด์สินค้าตำบล โครงการอาหารแห่งอนาคต โครงการตำบลสีเขียว โครงการ 1 ตำบล 1 สินค้าแชมเปี้ยน โครงการปศุสัตว์-ประมงตำบล โครงการเครือข่ายศูนย์เทคโนโลยีเกษตร และนวัตกรรมเชื่อมโยงกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดเพชรบุรีหรือศูนย์ AIC (มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี) และโครงการชลประทานชุมชนมีคณะทำงานจัดทำแผนและขับเคลื่อนการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมแบบยั่งยืน เป็นต้น

สำหรับเพชรบุรีถือเป็นจังหวัดแรกที่มีการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล วันนี้เริ่มที่ตำบลบ้านหม้อ ตำบลต้นมะม่วง ตำบลหนองโสน ตำบลบ้านกุ่ม ตำบลธงชัย เพื่อทำความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของทุกภาคส่วนเช่นอบต. อาสาสมัครเกษตร ซึ่งเรามีอยู่ทุกหมู่บ้านตำบลได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนในฐานะที่เป็นกรรมการตัวแทนจากทุกหมู่บ้านรวมไปถึงภาคเอกชนในตำบลนั้น ๆ ในการดำเนินโครงการพัฒนาตำบลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำปลายน้ำ โดยยึดแนวทางสำคัญคือ การพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยชุมชน ของชุมชนเพื่อชุมชน.

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*